วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2554

สมุนไพรสมานลำไส้ เคล็ดขัดยอก ฟกบวม เหน็บชา


ไพลป่า มี 2 ชนิดคือ ไพลป่าดำ มีต้นและดอกเป็นสีดำกับไพลป่าแดง ที่ต้นและดอกเป็นสีแดงเข้มมองเห็นชัดเจน ส่วนลักษณะทางพฤกษศาสตร์เหมือนกับไพลบ้านทุกอย่าง รวมทั้งสรรพคุณทางสมุนไพรด้วย เพียงแต่ ไพรป่าแดง กับไพลป่าดำ จะหายากมาก คนจึงนิยมปลูกเฉพาะไพลบ้านเท่านั้น


ไพลป่าแดง หรือ ZINGIBER PURPURBUM ROSC. อยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE เป็นไม้ล้มลุก ต้นสูง 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าหรือหัวใต้ดิน หัวเป็นแง่งโตติดต่อกันเป็นพืดคล้ายขิง เนื้อในหัวเป็นสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว แทงหน่อหรือต้นขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันเป็นสีแดงเข้ม ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ เป็นรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายและโคนใบแหลม โคนก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ก้านใบเป็นสีแดงเข้ม


ดอก ออกเป็นช่อแทงขึ้นจากเหง้าหรือหัวใต้ดิน ก้านช่อดอกกลมชูตั้งขึ้นเป็นสีแดงเข้ม ลักษณะดอกเหมือนกับดอกไพลบ้านทุกอย่าง ใบประดับเป็นสีแดงเข้มเรียงซ้อนสลับกันเป็นรูปทรงกลม ปลายดอกแหลม กลีบดอกเป็นสีเหลืองขนาดเล็กโผล่แลบออกมาตามซอกกลีบประดับ ทำให้เวลามีดอกดูสวยงามมาก ผลรูปทรงกลม เมื่อแห้งไม่แตกอ้า ภายในมีเมล็ด เป็นไม้เจริญเติบโตดีในช่วงฤดูฝน และจะทรุดโทรมหรือตายไปในช่วงฤดูแล้ง โดยจะฝังหัวหรือเหง้าอยู่ใต้ดินรอจนกระทั่งถึงฤดูฝนโปรยปรายเม็ดลงมาในฤดูกาลปีถัดไปจึงจะแทงต้นและมีดอกอีกครั้งเป็นวัฏจักร ขยายพันธุ์ด้วยหัวหรือเหง้า ปัจจุบัน ไพลป่าแดง กำลังเป็นที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะหากปลูกแล้วรดน้ำบำรุงปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ ต้นจะไม่ตายและมีดอกสีสันงดงามตลอดเวลา มีต้นหรือเหง้าขาย ที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ บริเวณโครงการ 24 แผงคุณนิดคุณหล้า ราคาสอบถามกันเอง


ส่วนสรรพคุณทางสมุนไพรของไพลบ้าน เหง้าขับลม ขับประจำเดือน มีฤทธิ์ระบายอ่อนๆ แก้บิด สมานลำไส้ ภายนอก เหง้าสดฝนทาแก้เคล็ดยอก ฟกบวม เส้นตึง เมื่อยขบ เหน็บชา และสมานแผล งานวิจัยพบว่าในเหง้ามีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีคุณสมบัติลดอาการอักเสบและบวม น้ำมันไพลผสมแอลกอฮอล์สามารถทากันยุงได้ นอกจากนี้ยังพบว่าในเหง้ามีสาร 4–(4–HYDROXY 1 BUTENYL) VERATROLE ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลมได้ ทดลองใช้ผงไพลกับผู้ป่วยเด็กเป็นหืดสรุปว่าให้ผลดีทั้งในรายที่มีอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง




ไพล


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber montanum (Koenig) Link ex Dietr.


ชื่อพ้อง : Z.purpureum Roscoe


วงศ์ : Zingiberaceae


ชื่ออื่น : ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ว่านไฟ (ภาคกลาง) มิ้นสะล่าง(ฉาน-แม่ฮ่องสอน)




ถิ่นกำเนิด ไทย อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


ไม้ล้มลุกสูง 0.7-1.5 เมตร มีเหง้าใต้ดิน เปลือกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองถึงเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ซึ่งประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 3.5-5.5 เซนติเมตร ยาว 18-35 เซนติเมตร ดอกช่อ แทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบดอกสีนวล ใบประดับสีม่วง ผลเป็นผลแห้งรูปกลม


การปลูก


ใช้เหง้าปลูก ชอบดินเหนียวปนทราย ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดพอควร จะปลูกเป็นแปลง หรือปลูกที่ละก่อก็ได้ วิธีปลูกโดยขุดจากก่อเดิม ตัดลำต้นทิ้ง และนำเอาปลูก




ส่วนที่ใช้


เหง้าแก่จัด เก็บหลังจากต้นไพลลงหัวแล้ว


สรรพคุณ



  • เหง้า

- เป็นยาแก้ท้องขึ้น ท้องอืดเฟ้อ ขับลม - แก้บิด ท้องเดิน ขับประจำเดือนสตรี ทาแก้ฟกบวม แก้ผื่นคัน


- เป็นยารักษาหืด - เป็นยากันเล็บถอด - ใช้ต้มน้ำอาบหลังคลอด - น้ำคั้นจากเหง้า รักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกบวม แพลงช้ำเมื่อย



  • หัว ช่วยขับระดู ประจำเดือนสตรี เลือดร้าย แก้มุตกิตระดูขาว แก้อาเจียน แก้ปวดฟัน

  • ดอก ขับโลหิตกระจายเลือดเสีย

  • ต้น แก้ธาตุพิการ แก้อุจาระพิการ

  • ใบ แก้ไข้ ปวดเมื่อย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว แก้เมื่อย

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่ ใช้ใบไพล(ว่านไฟ)ผสมเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารและกินดอกและใบอ่อนเป็นเครื่องเคียงช่วยเสริมในอาหารธาตุเย็น



วิธีและปริมาณที่ใช้

แก้ท้องขึ้น ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม


ใช้เหง้าแห้งบดเป็นผง รับประทานครั้งละ ½ ถึง 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน ผสมเกลือเล็กน้อย ดื่ม



แก้เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง
- ใช้หัวไพลฝนทาแก้ฟกบวม เคล็ด ขัด ยอก


-ใช้เหง้าไพล ประมาณ 1 เหง้า ตำแล้วคั้นเอาน้ำทาถูนวดบริเวณที่มีอาการ หรือตำให้ละเอียด ผสมเกลือเล็กน้อยคลุกเคล้า แล้วนำมาห่อเป็นลูกประคบ อังไอน้ำให้ความร้อน ประคบบริเวณปวดเมื่อยและบวมฟกช้ำ เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย หรือทำเป็นน้ำมันไพลไว้ใช้ก็ได้ โดยเอาไพล หนัก 2 กิโลกรัม ทอดในน้ำมันพืชร้อนๆ 1 กิโลกรัม ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก ใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา ทอดต่อไปด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 10 นาที กรองแล้วรอจนน้ำมันอุ่นๆ ใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดฝามิดชิด รอจนเย็น จึงเขย่าการบูรให้ละลาย น้ำมันไพลนี้ใช้ทาถูนวดวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือเวลาปวด (สูตรนี้เป็นของ นายวิบูลย์ เข็มเฉลิม .สนามชัยเขต .ฉะเชิงเทรา)



แก้บิด ท้องเสีย

ใช้เหง้าไพลสด 4-5 แว่น ตำให้ละเอียด คั้นเอาแต่น้ำเติมเกลือครึ่งช้อนชา ใช้รับประทาน หรือฝนกับน้ำปูนใส รับประทาน


เป็นยารักษาหืด


ใช้เหง้าไพลแห้ง 5 ส่วน พริกไทย ดีปลี อย่างละ 2 ส่วน กานพลู พิมเสน อย่างละ ½ ส่วน บดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อนรับประทาน หรือปั้นเป็นลูกกลอนด้วยน้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา รับประทานครั้งละ 2 ลูก ต้องรับประทานติดต่อกันเวลานาน จนกว่าอาการจะดีขึ้น


เป็นยาแก้เล็บถอด


ใช้เหง้าไพลสด 1 แง่ง ขนาดเท่าหัวแม่มือ ตำให้ละเอียดผสมเกลือและการบูร อย่างละประมาณครึ่งช้อนชา แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็นหนอง ควรเปลี่ยนยาวันละครั้ง


ให้ผิวหนังชุ่มชื่น และเป็นยาช่วยสมานแผล


ใช้เหง้าสด 1 แง่ง ฝานเป็นชิ้นบางๆ ใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นๆ เนื่องจากไพลมี่น้ำมันหอมระเหย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


- โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี